ปัญหาน้ำท่วม

Moderator: admin

ปัญหาน้ำท่วม

โพสต์โดย klang » 24 ต.ค. 2010 23:26

ช่วงนี้ อุทกภัยเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่กำลังโจมตีประชาชนทางภาคอีสานกันอยู่ มันเป็นฝันร้ายสำหรับผู้คนที่อยู่ในท้องที่นั้น ๆ และสำหรับเราทุกคนที่ไม่ได้อยู่ที่นั่นด้วย กระแสน้ำใจจากคนไทยที่ต่างทยอยกันให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยคงเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ที่ทุกคนต่างส่งมอบให้กันและกัน

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา กระแสภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนได้เข้ามาโจมตีความเป็นอยู่ของคนในประเทศไทยเกือบทั้งหมดรับรู้แล้วว่า การดำเนินชีวิตทุกวันนี้จำเป็นต้องรับทราบข้อมูลข่าวสารที่รายงานความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับภัยทางธรรมชาติด้วย ในขณะที่จังหวัดสมุทรปราการเอง ก็ได้เฝ้าติดตามและรายงานประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ให้ชาวบ้านได้รับทราบเช่นกัน ที่เห็นได้เด่นชัดคือ ภัยจากสตอร์ม เซิร์จ ที่ผ่านมา ซึ่งผมและคนในบ้านก็เป็นหนึ่งที่ตระหนักกับภัยนี้และพร้อมจะเกาะติดข้อมูลเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะภัยทางธรรมชาติอาจมาโดยไม่ทันตั้งตัวและเตือนไม่ทันได้

การเตรียมตัวหลัก ๆ ที่เราสามารถจัดเตรียมได้ด้วยตนเองสำหรับภัยน้ำท่วมคือ
1. อาหาร มีการจัดเตรียมเสบียงอาหารตุนไว้ อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง น้ำดื่ม
2. สถานที่อยู่อาศัย ถ้ามีสถานที่ที่พอจะหลบเลี่ยงกระแสน้ำและระดับน้ำที่จะท่วมถึงได้ ก็ต้องรีบจัดหากันได้แล้ว ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องเก็บข้าวของที่มีค่าหรือจัดการให้ได้รับความปลอดภัยเท่าที่จะทำได้
3. ยารักษาโรค ยาสามัญประจำบ้าน ยาที่ใช้รักษาเกี่ยวกับโรคที่มากับน้ำ เช่น น้ำกัดเท่า ผด ผื่น คัน
4. อุปกรณ์นิรภัย ได้แก่ เสื้อชูชีพ เรือโดยสาร (เรือยาง เรือสังกะสี เรือท้องแบน ไม่ว่าจะทำด้วยวัสดุอะไรที่สามารถใช้โดยสารได้ ก็ควรจัดหามาเผื่อไว้) นกหวีด หรือสัญญาณเตือนภัย ไฟฉาย (ถ้าได้ไฟฉายแบบไดนาโม ที่ไม่ต้องใช้แบตเตอร์รี่ก็จะดีมาก)
5. ส้วม ไม่พุดถึงเรื่องนี้คงไม่ได้ เพราะเมื่อเกิดภัยน้ำท่วม เราคงจะหาที่ขับถ่ายลำบาก ถ้าน้ำท่วมห้องน้ำหรือห้องส้วมของเรา เราคงจะหาที่ขับถ่ายลำบาก การถ่ายและปล่อยสิ่งปฏิกูลทิ้งเรี่ยราดคงจะไม่ดีต่อผู้อื่นและส่งผลให้เกิดการติดเชื้อและโรคภัยตามมา ดังนั้น ผู้อยู่อาศัยทุกคนสามารถจัดทำส้วมส่วนตัวด้วยตัวท่านเองได้ โดยจัดหา กระติกใส่น้ำที่มีฝาปิดมีหูหิ้ว ที่ไม่จำเป็นต้องซื้อในราคาแพงมาก ที่คุณพอจะใช้นั่งถ่ายได้หรือกระโถนก็ได้แล้วแต่สะดวก และที่ขาดไม่ได้คือ ถุงพลาสติกหรือถุงหูหิ้วที่ใช้รองรับสิ่งที่เราขับถ่าย ซื้อไว้เลยหลายแพ็ค กระดาษชำระด้วย เมื่อเสร็จกิจแล้ว ก็ต้องนำไปทิ้ง ดังนั้น ควรจัดหาถังใบใหญ่หนึ่งใบที่ลอยน้ำได้ใช้สำหรับบรรจุใส่ถุงปฏิกูลนั่นเอง เพื่อรอให้เทศบาลมาเก็บในภายหลัง (ตรงนี้อาจประสานกับทางเทศบาลก็ได้ในการจัดหาถังสำหรับใส่สิ่งปฏิกูลโดยตรง ที่เราสามารถพายเรือนำไปทิ้งได้)

ในส่วนของรัฐหรือหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ก็ควรจะเริ่มดำเนินการจัดเตรียมให้แต่ละชุมชนได้เริ่มมีการซ้อมเตรียมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติแต่ละแบบได้แล้ว เพราะพื้นที่อาศัยในจังหวัดสมุทรปราการเป็นพื้นที่หนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเพิ่มของระดับน้ำ ที่ไม่ควรจะละเลย

แนวทางดำเนินการป้องกันและเตรียมตั้งรับกับปัญหาที่เกิดขึ้น (โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชนในอนาคต)
1. การประชาสัมพันธ์ ควรจะให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ตระหนักและเตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติได้แล้ว ไม่ใช่ว่าเป็นการตื่นตระหนก แต่การอยู่ด้วยความไม่ประมาทและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ควรจะเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทราบและควรทำ
2. สถานที่หลบภัยหรือศูนย์ประสานงานเฝ้าระวังภัยทางธรรมชาติประจำชุมชน ทางเทศบาลฯ ควรจะเริ่มหารือหรือจัดประชุมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดหาสถานที่สำหรับหลบภัยหรือเป็นหน่วยงานประสานงานเกี่ยวกับภัยทางธรรมชาติประจำชุมชน ที่สามารถเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างศูนย์กับแต่ละชุมชนได้
3. อุปกรณ์นิรภัย ควรให้แต่ละชุมชนเริ่มจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดำรงชีพในระหว่างผจญภัยธรรมชาติ เช่น การจัดหาเรือโดยสารสาธารณะประจำหมู่บ้านหรือชุมชน
4. การจัดทำส้วมสาธารณะลอยน้ำประจำชุมชน (เพื่อป้องกันไม่ให้มีปฏิกูลลอยเกลื่อนในน้ำและป้องกันโรคที่มาจากน้ำด้วย) ซึ่งอาจให้คณะกรรมการหมู่บ้านประชุมและจัดหางบประมาณในการจัดซื้อจัดหามาไว้ในชุมชน โดยให้ประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนมีส่วนร่วมในการออกค่าใช้จ่าย ในส่วนของส้วมลอยน้ำ สามารถสืบค้นได้จากงานประดิษฐ์ของนักศึกษาในวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ เพราะอันที่จริงขั้นตอนในการทำก็ไม่ได้ยากอะไร เพียงจัดหาถังใส่น้ำมันขนาดใหญ่ จำนวน 4-6 ถัง(เปล่า) มาผูกหรือเชื่อมติดด้วยกันเป็นฐานที่ใช้สำหรับบรรจุสิ่งปฏิกูลที่ขับถ่าย ส่วนด้านบนก็สร้างห้องน้ำขนาดเล็ก ซึ่งต่อท่อระบายของเสียลงไปยังถังเก็บปฏิกูลข้างล่างโดยตรง ซึ่งจำนวนห้องจะใช้จำนวนเท่าใดนั้นก็ต้องคำนวณปริมาณการใช้กับจำนวนประชาชนที่ใช้ด้วย การจัดทำส้วมสาธารณะ อาจจัดวางไว้ที่ศูนย์กลางของหมู่บ้านหรือชุมชน ที่ชาวบ้านสามารถพายเรือมาใช้บริการได้ (ในกรณีที่เขาไม่สามารถจัดหาส้วมส่วนตัวให้กับตัวเองได้นั่นเอง) ตรงนี้ทางเทศบาลฯ อาจประสานกับกระทรวงสาธารณสุขประจำจังหวัดให้ช่วยกันคิดเรื่องนี้ครับ ซึ่งคงต้องพิจารณาตามความเหมาะสม

สิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนชาวอีสานในขณะนี้อาจเป็นฝันร้ายของเราในอนาคตได้ หากเรามัวแต่นั่งรอขอความช่วยเหลือจากรัฐและเอกชน ซึ่งแน่นอนน้ำใจของคนไทยไม่เคยขาดหายไป แต่ถ้ามีเวลาพอที่จะเตรียมตั้งรับและทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ก็คงจะดีไม่น้อยครับ

ขอบคุณครับ
klang
 
โพสต์: 15
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.ย. 2010 14:18

ย้อนกลับไปยัง พูดคุยทั่วไปเกี่ยวกับเทศบาลตำบลบางปู

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน

cron